วัดศรีบุญเรือง สันนิษฐานว่าสร้างหลังพระธาตุแช่แห้งไม่นานนักราว พ.ศ.2103 ด้วยชัยภูมิที่ตั้งในอดีตเป็นจุดแวะพักเพื่อผ่านไปองค์พระธาตุแช่แห้ง หรือเลยไปยังเมืองสุโขทัย สิ่งที่หลงเหลือเป็นหลักฐานว่าเป็นที่พักแห่งการเดินทางในอดีตของเมืองน่าน คือวัดที่มีพระพุทธรูปที่สำคัญตกทอดมาถึงทุกวันนี้ องค์แรกพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย ที่มีลักษณะพระวรกายอ่อนช้อย พระขนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฎิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน พุทธลักษณะงดงามได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่สวยที่สุดแห่งประเทศไทย และยังมีพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยศิลปะน่านที่สำคัญ อีกหนึ่งองค์บริเวณฐานมีลวดลายภาพพระยามารวิจิตรงดงาม โดยน้ำหนักทองสำริดเท่ากับน้ำหนักของพระองค์เจ้าฟ้าอัตตวรปัญโญผู้สร้าง อีกหนึ่งองค์ คือพระพุทธรูปปางปรินิพพาน สันนิษฐานว่าทำมาจากทองทั้งองค์เป็นที่เลื่อมใสของผู้คนในชุมชนศรีบุญเรืองและนักท่องเที่ยว ทั้ง 3 องค์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในเจดียสถาน สถาปัตยกรรมล้านนา สีน้ำตาลตัดด้วยลวดลายสีทองเด่นเป็นสง่าอยู่กลางวัด ด้านในมีจิตรกรรมฝาผนังชาวเมืองน่าน และตุ๊ปู่ หรือพระครูพุทธมนต์โชติคุณ ศูนย์รวมจิตใจของคนศรีบุญเรืองในอดีตที่นำแนวคิดคำสอนของท่านยังคงอยู่มายึดถือปฏิบัติทำให้ชุมชนแห่งนี้สงบร่มเย็นน่าไปสัมผัสเมื่อมาตำบลม่วงตึ๊ด
ใส่ความเห็น