กำแพงเมืองน่าน เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองน่าน สร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยเจ้างัวผาสุม เมื่อ พ.ศ.๑๙๖๙ ต่อมา พ.ศ.๒๐๖๐ เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่แม่น้ำน่านเปลี่ยนเส้นทางเจ้าสุมนเทวราชจึงโปรดให้ย้ายเมืองไปตั้งที่บริเวณดงพระเนตรช้าง (บ้านพระเนตรในปัจจุบัน) ต่อมาเจ้าอนันตวรฤทธิเดช จึงโปรดให้ย้ายเมืองกลับมาตำแหน่งเดิม และสร้างกำแพงขึ้นใหม่ตามแนวเดิม ตัวเมืองที่สร้างในครั้งนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตัวกำแพงก่ออิฐถือปูน ซุ้มประตูเป็นทรงเรือนยอด ตัวประตูเป็นไม้ มีการเปิด-ปิดตลอดเวลา โดยมีนายประตูเป็นผู้รักษาอาชญา และมีบทลงโทษสำหรับผู้ปีนป่ายกำแพงหรือรื้อกำแพงเมือง อาชญานี้ยกเลิกไปเมื่อครั้งเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เป็นเจ้านครน่าน กำแพงเมืองที่สร้างขึ้นมี
ประตูทั้ง ๔ ทิศดังนี้ ทิศตะวันออก มีประตูชัยซึ่งเป็นประตูที่เจ้าผู้ครองนครและเจ้านายฝ่ายในใช้ในการเสด็จล่องชลมารคสู่พระนครรัตนโกสินทร์ ทิศเหนือ ประกอบด้วยประตูริมหรือประตูอุญญาณ ทิศตะวันตก มีประตูปล่องน้ำ ซึ่งเป็นประตูที่ใช้ในการระบายน้ำจากบริเวณภายในตัวเมืองด้านเหนือซึ่งเป็นที่ลุ่มน้ำ ออกสู่คูเมืองด้านนอก ทิศใต้ มีประตูเชียงใหม่และประตูท่าลี่สำหรับให้ราษฎรที่อยู่ในเมืองและนอกเมืองไปมาหาสู่กันได้ กำแพงเมืองน่านเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกถึงความมั่นคงของรัฐเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในลุ่มแม่น้ำน่านที่สามารถปกครองตนเองได้ แม้ต้องยอมอ่อนน้อมต่อหัวเมืองอื่นหลายครั้ง แต่เมืองน่านก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนไว้ได้เป็นอย่างดี
ใส่ความเห็น