ขอบเขตพื้นที่ “เมืองน่าน”
เดิมจังหวัดน่านได้กำหนดขอบเขตเมืองประวัติศาสตร์น่านชั้นในตามประกาศจังหวัดน่าน (หัวแหวนเมืองน่าน) ลงวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2546 ต่อมามติที่ประชุมสัมมนา จากโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทและผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาบริเวณเมืองเก่าน่าน เห็นชอบให้เปลี่ยนคำว่า “หัวแหวนเมืองน่าน” เป็น “ใจเมืองน่าน” และกำหนดขอบเขตตามแผนผัง ครอบคุลมสถานที่สำคัญประกอบด้วย
ข่วงเมืองน่าน คุ้มเจ้าราชบุตร ศาลากลางหลังเก่า วัดกู่คำ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดหัวข่วง วัดภูมินทร์ วัดมิ่งเมือง วัดไผ่เหลือง ศาลจังหวัดหลังเก่า พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน โรงเรียนราชานุบาล
ระดับเมือง
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
– ใช้ระบบการจัดทำผังเมืองรวมเป็นเครื่องมือหนึ่งในการอนุรักษ์ และพัฒนาเมืองเก่าน่าน เพื่อปกป้องคุ้มครองกลุ่มโบราณสถาน
– ส่งเสริมและจูงใจให้เกิดการรักษาสภาพแวดล้อมของเมืองน่านที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ รวมถึงรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน
– ส่งเสริม จูงใจ หรือผลักดันเกิดการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในอนาคต
– ลดผลกระทบจากการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่-อำเภอเฉลิมชัย จังหวัดน่าน
– ลดปัญหาและความคับคั่งของการจราจรภายในเขตเมืองเก่า
– จัดระบบโครงข่ายการคมนาคมและขนส่งให้เหมาะสมกับการอนุรักษ์เมือง
– รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา
– รักษาและเพิ่มพื้นที่โล่งสีเขียวตามแนวถนนสายประธานเมืองน่าน
– รักษาและเพิ่มพื้นที่โล่งสีเขียวตามแนวถนนสายสำคัญในเขตเมือง
– ควบคุมสภาพแวดล้อมบริเวณโดยรอบวัดที่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
ระดับพื้นที่ (เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมใจเมืองน่าน)
การใช้ประโยชน์ที่ดิน
– ปกป้องคุ้มครองกลุ่มโบราณสถานและพื้นที่ว่างที่สำคัญในพื้นที่ใจเมืองน่าน
– อนุรักษ์และฟื้นฟูแนวกำแพงเมือง คูเมืองน่านให้ปรากฏต่อเนื่องโดยตลอด
– รักษาสภาพแวดล้อมภายในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมใจเมืองน่าน
– ลดความแออัดโดยสนับสนุนการดำเนินโครงการย้ายศูนย์ราชการและเรือนจำกลางจังหวัดน่าน
– ลดปัญหาความคับคั่งของปริมาณการจราจรในเขตพื้นที่ใจเมืองน่านซึ่งส่งผลให้เกิดการทำลายบรรยากาศของเมืองเก่า
การควบคุมอาคาร
– ใช้มาตรการควบคุมอาคารเป็นเครื่องมือในการควบคุมสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมใจเมืองน่าน เพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่ของชาวน่านและเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปกรรม และวัฒนธรรมล้านนา
– ขึ้นทะเบียนแนวขอบเขตที่ดิน กำแพงเมือง คูเมืองเมืองน่าน และเวียงวัดพญาวัดเป็นเขตโบราณสถาน
– มาตรการการควบคุมอาคาร แบ่งเป็น 5 บริเวณ
บริเวณที่ 1 พื้นที่ใจเมืองน่าน ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอื่นใด เว้นแต่อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น มีที่ว่างปราศจากอาคารในแปลงที่ดินไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 อาคารทุกประเภทให้เว้นห่างจากเขตโบราณสถานโดยรอบไม่น้อยกว่า 20 เมตร ป้ายชื่อประกอบกิจการมีรูปแบบกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมเมืองเก่า
บริเวณที่ 2 พื้นที่ในบริเวณที่วัดจากแนวเขตที่ดินกำแพงเมือง คูเมืองน่าน ทั้งสองฝั่งออกไปในระยะข้างละ 20 เมตร ตลอดความยาวกำแพงเมืองห้ามมิให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอื่นใด
บริเวณที่ 3 พื้นที่ในบริเวณที่ล้อมรอบบริเวณที่ 1 สร้างได้เฉพาะอาคารที่มีความสูงไม่เกิน 12 เมตร มีที่ว่างปราศจากอาคารในแปลงที่ดินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และมีระยะห่างจากเขตที่ดินไม่ต่ำกว่า 2 เมตร
บริเวณที่ 4 พื้นที่ในบริเวณด้านทิศเหนือของบริเวณที่ 3 สร้างได้เช่นเดียวกับบริเวณที่ 3 และอาคารประเภทบริการและสาธารณูปการ มีพื้นที่ทุกชั้นรวมกันไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร
บริเวณที่ 5 พื้นที่ในบริเวณด้านตะวันออกของใจเมืองน่าน เป็นที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ ห้ามมิให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอื่นใด และที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ห้ามมิให้ก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารอื่นใด เว้นแต่อาคารประเภทที่กำหนดบริเวณที่ 1
การควบคุมสภาพแวดล้อม
– ส่งเสริมภูมิทัศน์เมือง พัฒนาที่โล่งในส่วนของสถานที่ราชการที่เชื่อมต่อกับโบราณสถานที่สำคัญในพื้นที่ใจเมืองน่าน และฟื้นฟูบรรยากาศของข่วงเมืองในอดีต เพื่อให้เกิดบรรยากาศเป็นเมืองเก่า
– รักษาและควบคุมสภาพแวดล้อมตามแนวถนนในเขตพื้นที่คุ้มครองใจเมืองน่าน
– ควบคุมสภาพแวดล้อมบริเวณโดยรอบของโบราณสถานและศาสนสถาน
– ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่มีจิตสำนึกในการรักษาความสะอาดและดูแลสิ่งแวดล้อมให้เกิดความเป็นเมืองน่าอยู่